วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2553

school KM

การจัดการความรู้ในสถานศึกษา (School Knowledge Management) โดย เบญจวรรณ แป้นนอก

              
ในสังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge-base Society and Economy) ภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ (Globalization) มีผลกระทบถึงการจัดการศึกษาในระดับโรงเรียนที่ต้องตอบสนองผลิตผู้เรียนให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และต่อเนื่องประกอบกับวัฒนธรรมของชาติไทยที่เป็นผู้มีความเป็นอยู่เรียบง่าย เช่น สังคมเกษตรกรรมมีความเอื้ออาทรสูง มีน้ำใจโอบอ้อมอารี โรงเรียนต้องอยู่ท่ามกลางภาวการณ์เปลี่ยนแปลงพร้อมกับเป็นความหวังของสังคม ในการถ่ายทอดวัฒนธรรมจากรุ่นบรรพบุรุษถึงเยาวชนรุ่นต่อไป ให้ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ได้อย่างมีคุณภาพ การศึกษาในปัจจุบันจะต้องปรับเปลี่ยนไปทิศทางใด จึงได้มีการกำหนดแนวนโยบายแห่งรัฐในการวางแนวทางให้โรงเรียนพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง โดยกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 มาตรา 11 มีสาระสำคัญกำหนดให้ ส่วนราชการพัฒนาความรู้ในส่วนราชการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ โดยต้องรับรู้ข้อมูลข่าวสารและสามารถประมวลผลความรู้ในด้านต่าง ๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติราชการได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเหมาะสมกับสถานการณ์ รวมทั้งต้องส่งเสริมและพัฒนาความรู้ความสามารถสร้างวิสัยทัศน์และปรับเปลี่ยนทัศนคติของข้าราชการในสังกัดให้เป็นบุคลากรที่มีประสิทธิภาพและมีการเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติราชการของส่วนราชการให้สอดคล้องกับการบริหารราชการให้เกิดผลสัมฤทธิ์
                           ในส่วนของสถานศึกษาบุคลากรทางการศึกษาไม่ว่าจะเป็นครู ผู้บริหารสถานศึกษา ตลอดจนผู้บริหารการศึกษา จะต้องสนใจในด้านข้อมูลข่าวสาร ซึ่งเป็นความรู้ที่มาจากแหล่งต่าง ๆ โดยที่ผู้ที่มีข้อมูลข่าวสารมากก็จะกลายเป็นผู้ที่มีความทันสมัย อยู่ในยุคของสังคมฐานความรู้ คือการใช้ความรู้เป็นเครื่องมือในการตัดสินใจ และปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพ เพราะความรู้เกิดจากปัญญา การค้นหา ศึกษาค้นคว้า มีการวิเคราะห์วิจัย เพื่อให้ได้องค์ความรู้ที่แท้จริง เชื่อถือได้ สามารถนำไปฏิบัติได้ บุคลากรทางการศึกษาจึงเป็นผู้มีความรู้ และรู้จักแสวงหาความรู้จนได้เป็นผู้ชำนาญการหรือเชี่ยวชาญ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่บุคลากรทางการศึกษาต้องมีความสามารถและทักษะในการจัดการความรู้

                           คำว่า “การจัดการความรู้ (Knowledge Management)” เป็นกระบวนการของการสร้างคุณค่าจากทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ขององค์กร คือ ทุนทางปัญญา รวมทั้งทุนมนุษย์ ทุนทางโครงสร้าง และทุนความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ซึ่งมีผู้ให้ความหมายของการจัดการความรู้ดังนี้
                         วิจารณ์ พานิช ( 2548 : 63) กล่าวว่า การจัดการความรู้เป็นการเรียนรู้แบบใหม่ที่เรียนจากการปฏิบัติเป็นตัวนำ เป็นตัวเดินเรื่อง ไม่ใช่แค่เรียนจากครูหรือตำรา ตำรานั้นเป็นการเรียนรู้แบบเก่า ซึ่งเน้นเรียนรู้แบบเก่า และเน้นเรียนทฤษฏี ขณะที่การเรียนรู้ แบบ KM ก็เป็นทฤษฏีแต่ว่าเน้นที่การเรียนรู้แบบปฏิบัติ เพราะการปฏิบัติทำให้เกิดประสบการณ์ การจัดการความรู้ไม่ใช่เรื่องของคนๆ เดียวเป็นเรื่องของคนหลายคนที่ทำงานร่วมกัน เพราะฉะนั้นเวลาปฏิบัติแต่ละคนจะมีประสบการณ์ไม่เหมือนกัน เมื่อนำมาแลกเปลี่ยนกันแล้ว อาจเห็นส่วนที่เหมือนกัน ซึ่งจะเป็นการยืนยันว่าเข้าใจตรงกันเมื่อเอาแลกเปลี่ยนกันมากๆ จะทำให้ยกระดับความรู้ความเข้าใจขึ้นไปอีกจะเห็นว่าการจัดการความรู้เราจะเน้นที่การเรียนรู้จากการปฏิบัติ แล้วก็เน้นตัวความรู้ที่เป็นความรู้ใจคนหรือที่เรียกว่า Tacit Knowledge ทั้งนี้ ความรู้จากเอกสารตำรา หรือที่เรียกว่า Explicit Knowledge นั้นก็สำคัญ เพียงแต่ว่าเรามักจะละเลยความรู้ที่อยู่ในคน
                      เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ (2547 : 63) กล่าวว่า การจัดการความรู้ คือความรู้เกิดจากการประมวลสังเคราะห์ และจำแนกแยกแยะสารสนเทศ เพื่อนำไปสู่การตีความและทำความเข้าใจกับสารสนเทศ เหล่านั้นจนกลายเป็นความรู้ ซึ่งความรู้นี้ครอบคลุมทั้งส่วนของความรู้โดยนัย (Tacit Knowledge) ที่ซ่อนอยู่ในความคิดของพนักงาน และที่ฝังตัวอยู่ในองค์กรกับความรู้แจ้งชัด (Explicit Knowledge) ที่ปรากฏในเอกสารที่บันทึกหรือรายงานต่างๆ ขององค์กร การจัดการความรู้ทั้งสองประเภทนี้ ให้เป็นระบบระเบียบ เพื่อให้คนที่ต้องการเข้าถึงได้ง่าย และดึงออกมาใช้งานได้ โดยสะดวกการจัดการความรู้จะเกิดขึ้นในระดับทีมงาน หรือระดับกลุ่มในองค์กรที่ต้องการปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจเจกแต่ละคน เพราะการจัดการความรู้จะเกิดขึ้นได้ ต่อเมื่อมีการปฏิสัมพันธ์ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างทีม ซึ่งอาจเป็นปฏิสัมพันธ์บนเครือข่าย Cyber Space หรืออาจผ่านการพบปะพูดคุยกันต่อหน้าก็ได้
                   ศุภามนต์ ศุภกานต์ (2547: 28-29) กล่าวว่าการจัดการความรู้เป็นเรื่องของการที่องค์กรหนึ่งจะสกัดคุณค่าจากทรัพย์สินทางปัญญาของคนออกมาให้ประโยชน์อย่างสูงสุดได้อย่างไรจุดสำคัญสำหรับการริเริ่มเกี่ยวกับ KM คือ ความรู้ที่ถือว่ามีค่าสำหรับองค์กรมักจะเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ ทัศนคติและพฤติกรรมของบุคคลเป็นส่วนใหญ่
                   บุญดี บุญญากิจ และคนอื่นๆ (2547: 3 ก) กล่าวว่าการจัดการความรู้เป็นกระบวนการในการนำความรู้ที่มีอยู่ หรือเรียนรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อองค์กร โดยผ่านกระบวนการต่างๆเช่น การสร้าง รวบรวม แลกเปลี่ยน และใช้ความรู้ เป็นต้น
                   อาภรณ์ ภู่วิทยพันธุ์ (2549 : ก) กล่าวว่า การจัดการความรู้ (Knowledge Management) เป็นกระบวนการที่สำคัญที่จะทำให้คนรู้จักหาความรู้ และนำความรู้มาใช้ในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบ การจัดการความรู้จำเป็นต้องมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง (Continuous Learning) อยู่ตลอดเวลา เพราะการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องจะทำให้เป็นคน ที่มีโลกทัศน์และวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล รู้ว่าควรทำอะไรไม่ควรทำอะไรในช่วงเวลาไหน รับรู้ถึงข้อดีข้อเสียจากการเลือกปฏิบัติในแนวทางใดทางหนึ่ง ซึ่งความสามารถต่างๆ เหล่านี้เองที่จะสะท้อนถึงคุณค่า (Value) ของตัวคุณที่คุณเองในฐานะของพนักงานอาจไม่เห็นผลชัดเจนในช่วงเวลานี้ แต่หากคุณเติบโตก้าวหน้าเป็นผู้บริหารแล้วล่ะก็ ความสามารถต่างๆ นี้จะทำให้คุณมีข้อได้เปรียบเหนือกว่า คนอื่น และนั่นก็หมายความว่าคุณจะมีผลการปฏิบัติงานที่ดี และมีศักยภาพในการทำงานในตำแหน่งงานที่สูงขึ้นต่อไป
                  ประชุม โพธิกุล และวารินทร์ สินสูงสุด (2548: 4) กล่าวว่าการจัดการความรู้ในสถานศึกษา มีหลักของการจัดการความรู้มี 2 ส่วน ส่วนหนึ่งสถานศึกษาตระหนักดีว่าความสำคัญขององค์การคือ รู้ว่าองค์การรู้อะไร สถานศึกษาทุกแห่งมี การเก็บ เข้าถึง และส่งมอบความรู้อยู่แล้วโดยการจัดความรู้มาแบ่งปัน และส่งมอบจากสถานศึกษาสู่ผู้เรียนในอีกส่วนหนึ่งเป็นการจัดการที่อำนวยประโยชน์ของความรู้แก่ครู และบุคลากรทางการศึกษา การจัดการความรู้ของสถานศึกษาจึงเป็นการเสาะหา ค้นพบ จับความรู้มาเก็บ กลั่นกรอง จัดเตรียมแบ่งปันและใช้ความรู้ทั่วทั้งองค์การสามารถร่วมแรงร่วมใจ แบ่งปันและใช้ความรู้ในทุกส่วนของสถานศึกษาจึงเป็นการใช้ความรู้อย่างมีประสิทธิผล
                      สรุปได้ว่า การจัดการความรู้ Knowledge Management (KM) หมายถึง การรวบรวมความรู้สู่การปฏิบัติ (Tacit Knowledge) ซึ่งเป็นความรู้ที่เกิดจาก การเรียนรู้ เจตคติในงาน ประสบการณ์การทำงาน และพฤติกรรมการทำงานของแต่ละบุคคล ซึ่งปฏิบัติงานเรื่องเดียวกันหรือคนละเรื่องแล้วประชุมหรือสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากกันและกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เมื่อรวบรวมแล้วก็มีการนำความรู้ที่ได้มาสังเคราะห์ วิเคราะห์ (Analysis) หรือจัดระบบใหม่ เพื่อสร้างเป็นองค์ความรู้ใหม่ ยอมรับข้อดีและจุดที่เป็นปัญหาของกันและกัน มีการจัดเก็บข้อสรุปทั้งมวลอย่างเป็นระบบเพื่อนำไปสู่การยอมรับในกฎกติกาขององค์กรที่ทุกคนยอมรับ แล้วนำมาเผยแพร่ความรู้เพื่อให้เกิดการต่อยอดความรู้หรือสร้างประโยชน์จากความรู้และนำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและองค์กร รวมทั้งเป็นแบบอย่างต่อหน่วยงานอื่น อันจะยังประโยชน์ใน วงวิชาการและงานการศึกษาต่อไป


http://images.penja.multiply.multiplycontent.com/attachment

วันอังคารที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2553

หลักการKM

หลักการจัดการความรู้ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา

     หลักการการจัดการความรู้ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา การจัดการความรู้ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ที่ควรจะเป็น คือ


1. เพื่อเพิ่มพลังความรู้ ความสามารถในการปฏิบัติงานของบุคลากรที่ปฏิบัติงานในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกคน ในฐานะองค์กรต้นแบบการจัดการความรู้สำหรับโรงเรียน ในสังกัด

2. เพื่อพัฒนาบุคลากรของโรงเรียนให้มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องการจัดการความรู้จัดการความรู้ ใช้วิธีการจัดการความรู้ ตลอดจนกำกับติดตาม ประเมินผล และนำผลจากการกำกับติดตามส่วนหนึ่งไปใช้ในการบำเหน็จความดี ความชอบ ยกย่องประกาศเกียรติคุณ สร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน

เพิ่มคำอธิบายภาพ

KM

         การจัดการความรู้ (KM) ของ  นพ.วิจารณ์ พานิช (อ้างใน p://www.dopa.go.th/iad/km/km_des.html#km1)
กล่าวว่า ความรู้ มี 2 ประเภท คือ

1. ความรู้ที่ฝังอยู่ในคน (Tacit Knowledge) เป็นความรู้ที่ได้จากประสบการณ์
พรสวรรค์หรือสัญชาติญาณของแต่ละบุคคลในการทำความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ เป็นความรู้ที่ไม่สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดหรือลายลักษณ์อักษรได้โดยง่าย เช่น ทักษะในการทำงาน งานฝีมือ หรือการคิดเชิงวิเคราะห์ บางครั้ง จึงเรียกว่าเป็นความรู้แบบนามธรรม

2. ความรู้ที่ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) เป็นความรู้ที่สามารถรวบรวม
ถ่ายทอดได้ โดยผ่านวิธีต่าง ๆ เช่น การบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ทฤษฎี คู่มือต่าง ๆ และบางครั้งเรียกว่าเป็นความรู้แบบรูปธรรม